วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดกำแพงเพชร

จังหวัดกำแพงเพชร :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทางเข้าตั้งอยู่นอกเมืองกำแพงเพชร ไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ตามถนนสายกำแพงเพชร - พรานกระต่าย แล้วเลี้ยวซ้ายตรงกิโลเมตรที่ ๓๖๐ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แบ่งออกเป็นโบราณสถานฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งใช้วัสดุก่อสร้างที่แตกต่างกัน ด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง เป็นที่ตั้งเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานจะสร้างด้วยศิลาแลง และมีขนาดใหญ่ ส่วนโบราณสถานฝั่งตะวันตก คือเมืองนครชุม ก่อสร้างด้วยอิฐ และมีขนาดเล็ก แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏ มีลักษณะร่วมสมัยระหว่างสุโขทัย และอยุธยา

นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองกำแพงเพชร หรือเขตอรัญญิก ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์ ที่มุ่งในการปฏิบัติวิปัสสนาธรรม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทาง ๒ กิโลเมตร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลก” ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๔

ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น ค่าเข้าชมชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๔๐ บาท สำหรับผู้ที่จะนำรถเข้าชมในบริเวณอุทยานจะต้องเสียค่าผ่านประตูคันละ ๕๐ บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
โทร ๐ ๕๕๗๑ ๑๙๒๑

สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ

วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกำแพงเพชร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถาน มรดกโลก ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญ อยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ภายในบริเวณวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานที่ฐานมีสิงห์ล้อม เจดีย์ทรงกลมที่ฐานมีช้างรอบ วิหาร มณฑป อุโบสถ และเจดีย์ราย ทั้งหมดล้อมรอบด้วย กำแพงศิลาแลงเป็นแท่ง ๆ โดยรอบ

วัดพระธาตุ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว มีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมเป็นประธาน ล้อมรอบด้วยระเบียบคด ที่เชื่อมต่อกับวิหารด้านทิศตะวันออก ที่สองข้างวิหารมีเจดีย์รายอยู่ข้างละ ๑ องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ

สระมน เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๑๖ เมตร รอบสระมีคันดินคูน้ำล้อมรอบ จากการขุดค้นที่บริเวณนี้ พบเศษกระเบื้องมุงหลังคา เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ

กำแพงเมืองกำแพงเพชร เป็นกำแพงชั้นเดียว สร้างเป็นเชิงเทินมี ๒ ตอน ตอนล่างเป็นมูลดินสูงขึ้นไป ๓-๔ เมตร ตอนบนก่อด้วยศิลาแลง เป็นเชิงเทินมีใบเสมา และเจาะตรงใบเสมาไว้สำหรับมองข้าศึก

วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครชุม เป็นเจดีย์ที่เจ้าพระยาลิไทเสด็จมาสถาปนา และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ๓ องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ต่อมาพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงได้ปฏิสังขรณ์ เป็นเจดีย์แบบพม่า ดังที่ปรากฏเมื่อ ๘๐ –๙๐ ปีมาแล้ว

วัดซุ้มกอ เป็นวัดขนาดเล็ก อยู่ทางทิศใต้ของเมืองนครชุมเจดีย์ ประธานเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม มีองค์ระฆังแบบลังกา วัดนี้เคยขุดพบพระเครื่อง “ซุ้มกอ” เป็นจำนวนมาก ด้านหน้าของเจดีย์ประธานมีวิหารเล็ก ๆ ๑ หลัง

วัดพระบรมธาตุเจดียาราม มีเจดีย์แบบพม่า ๑ องค์ สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อย่างศิลปะสุโขทัย แต่ปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบพม่า เนื่องจากเศรษฐีพม่าผู้หนึ่งได้มาบูรณะเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปี มาแล้ว ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย และอยุธยามากมาย

กำแพงป้อมทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อย ลักษณะเป็นป้อมปราการ ที่ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๖ เมตร มีประตูทางเข้าตรงกลางป้อม ๔ ด้าน ด้านในของป้อมมีเชิงเทิน ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินติดต่อกันได้ ตรงมุมมีป้อมยื่นออก ๔ มุม มีรูอยู่ติดกับพื้น แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกเสียด้านหนึ่ง

วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีขนส่งกำแพงเพชร เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเมืองนครชุมทางทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม มีการจัดผังวัดแบบ อุทกสีมา คือใช้แนวคูน้ำโดยรอบ เพื่อแสดงขอบเขตของวัด ซึ่งเป็นผังที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย

วัดหนองพิกุล เป็นวัดสำคัญของเมืองนครชุม ส่วนหลังคาไม่ปรากฎให้เห็น แต่ผนังที่เหลืออยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐฉาบปูนมีลวดลายประดับ เป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา

วัดพระนอน มีกำแพงศิลาแลงปักล้อมรอบวัดไว้ทั้ง ๔ ด้าน ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม มีห้องอาบน้ำและศาลาน้ำ ฐานและเสาเป็นศิลาแลง มีทางเท้าปูด้วยศิลาแลง มีโบสถ์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้า ด้านหลังเป็นวิหารพระนอน ก่อสร้างด้วยเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ หลักฐานทางประติมากรรมที่พบ คือ ใบเสมารูปเทพพนม พาลีกับทรพี สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในสมัยอยุธยา

วัดพระสี่อิริยาบถ หรือ วัดพระยืน วัดนี้มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้าวัดเช่นเดียวกับวัดพระนอน กำแพงเป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม ๔ ด้าน ด้านหน้าวัดมีวิหารขนาดใหญ่ยกฐานสูง ๒ เมตร มีเสาลูกกรง เป็นศิลาแลงเหลี่ยม และมีทับหลังบนมุขหน้าวิหาร สิ่งสำคัญของวัดได้แก่ มณฑปจตุรมุข แต่ละทิศประดิษฐาน พระพุทธรูป ๔ ปาง คือ เดิน นั่ง ยืน และนอน อยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียง พระยืนขนาดใหญ่ที่สวยงาม พระพักตร์เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แบบกำแพงเพชรคือ พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม

วัดพระสิงห์ ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐๐ เมตร สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้างถึง ๒ สมัย คือ สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ผังรวมของวัดแบ่งเขตพุทธาวาส ให้อยู่ในกลุ่มกลาง ล้อมรอบด้วยเขตสังฆาวาส หรือกุฏิสงฆ์ โดยมีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มทั้ง ๔ ด้าน เป็นประธาน ด้านหน้าเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ ยกฐานประทักษิณสูง บนฐานประทักษิณนี้ประดิษฐานพัทธสีมา ไว้ทั้งแปดทิศ มุขด้านหน้าของฐานประทักษิณ มีรูปสิงห์รูปนาคประดับ

วัดช้างรอบ เป็น วัดที่สร้างบนยอดเนิน มีพระเจดีย์ทรงลังกา ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ที่ชั้นฐานลานประทักษิณ ประดับด้วยช้างทรงเครื่องครึ่งตัว จำนวน ๖๘ เชือก ระหว่างช้างแต่ละเชือก มีภาพปั้นรูปลายพรรณพฤกษา ในพระพุทธศาสนา เช่น ต้นโพธิ์ และต้นสาละ เป็นต้น

วัดอาวาสใหญ่ มี เจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธาน ด้านหน้าเป็นวิหารฐานสูงมีทางขึ้น ๓ ด้าน มีเจดีย์รายรอบ ด้านหน้าสุดนอกเขตกำแพงแก้วมีบ่อน้ำใหญ่ เรียก “บ่อสามแสน” เพราะน้ำในบ่อนี้ไม่เคยแห้ง

ที่ทำการหน่วยศิลปากรประจำจังหวัดกำแพงเพชร ตั้ง อยู่เลยวัดพระแก้วไปตามเส้นทางกำแพงเพชร - พรานกระต่าย มีทางแยกเข้าไปทางซ้ายมือ ตรงประตูสะพานโคมประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ การบูรณะขุดแต่งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ภายในที่ทำการหน่วยจะมีแผนผังอุทยานฯ ที่สามารถทำให้เข้าใจ การแบ่งส่วนพื้นที่โบราณสถานได้อย่างชัดเจน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นดำริห์ เป็นที่แสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ อาทิเช่น ศิลปทวารวดี ศิลปลพบุรี และศิลปรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา และมนุษย์ซึ่งใช้ประดับฐานเจดีย์ หรือติดตั้งวิหาร นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ถูกลอบตัดเศียรและพระหัตถ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ และได้ถูกซ่อมแซมให้คืนดีในภายหลัง ผู้สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ในเวลาราชการทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๕๕๗๑ ๑๕๗๐

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๔/๕ ถนนปิ่นดำริห์ อยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชรภายในเขตกำแพงเมืองเก่าของจังหวัด กำแพงเพชร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี สร้างด้วยไม้สักเป็นเรือนไทยหมู่แบบเรือนไทยภาคกลาง พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรฯ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือส่วนของประวัติศาสตร์เมือง ส่วนของมรดกดีเด่น เช่น หินอ่อน แหล่งน้ำมัน และส่วนของชาติพันธุ์วิทยา แสดงถึงชนเผ่าต่างๆ เช่น มูเซอ กะเหรี่ยง ลีซอ และการละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น มีห้องโสตทัศนูปกรณ์ และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยใช้ระบบมัลติมีเดีย มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัด ผลิตภัณฑ์ชาวเขาและกลุ่มแม่บ้าน นอกจากนั้นมีศูนย์จริยศึกษา เพื่อฝึกหัดอบรมงานศิลปประดิษฐ์สำหรับเยาวชนในวัยเรียน ซึ่งจะเป็นนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด โดยจะสอนเกี่ยวกับพุทธศาสนา มรรยาท การแกะสลัก ร้อยมาลัย ซึ่งจะเปิดสอนเฉพาะวันอาทิตย์ พิพิธภัณฑสถานจังหวัด กำแพงเพชรฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น.

ค่าบัตรผ่านประตู ๑๐ บาท ค่าเข้าชมมัลติมีเดีย ๒๕๐ บาท/คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. ๐ ๕๕๗๒ ๒๓๔๑-๒

ศาลพระอิศวร ตั้งอยู่ด้านหลังศาลจังหวัด มีฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ๑.๕๐ เมตร บนฐานชุกชีมีเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ที่จำลองขึ้น เทวรูปพระอิศวรองค์เดิม ปัจจุบันตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เทวรูปองค์เดิมนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันได้ลักลอบตัดพระเศียร และพระหัตถ์ ส่งลงเรือมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขอพระเศียร และพระหัตถ์คืน และทรงประทานพระอิศวรจำลองให้แทน ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน

สิริจิตอุทยาน เป็น สวนสาธารณะเอนกประสงค์ริมฝั่งแม่น้ำปิง มีเนื้อที่ ๑๗๐ ไร่ ประกอบด้วยสนามเด็กเล่น สวนสุขภาพ ศาลาพักผ่อน สวนไม้ดอกไม้ประดับปลูก และลานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทย มีการแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยประจำท้องถิ่นที่ลานเทวีกลางแจ้งและมี การจัดจำหน่ายสินค้าโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอีกด้วย

หอไตรวัดคูยาง ตั้งอยู่ที่ถนนวิจิตร เขตเทศบาลเมือง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ หอไตรนี้สร้างไว้กลางน้ำและมีใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันปลวก แมลงสาบ และหนู เข้าไปกัดทำลายพระไตรปิฎก หนังสือ และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์ อยู่ในตำบลนครชุม อำเภอเมือง เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูงเกือบ ๓ เมตร มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง เป็นหลักฐานสำคัญประกอบข้อเท็จจริง ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกำแพงเพชร และหัวเมืองฝ่ายเหนือ

บ้านไม้สักเก่าแก่ ตั้ง อยู่บนถนนเทศา เขตเทศบาลเมือง เป็นมรดกตกทอดของคหบดีชาวกำแพงกำแพงเพชร มีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เสาเรือนทุกต้นใช้ไม้สักต้นเดียวยาวตลอด และหน้ามุขประดับด้วยไม้ฉลุมีความสวยงามมาก

ศูนย์แปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านบ่อสามแสน หมู่ ๖ บ้านบ่อสามแสน ตำบลหนองปลิง
อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๕ กิโลเมตร บนทางหลวงสายกำแพงเพชร-พรานกระต่าย
ศูนย์แห่งนี้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปทางการเกษตรหลายชนิด ที่ขึ้นชื่อที่สุดได้แก่ กระยาสารท
ข้าวแต๋น นางเล็ด ขนมดอกจอก มันรังนก มีความเป็นเอกลักษณ์และรสชาติความอร่อยแบบไทยๆ

บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง (บึงสาป) หมู่ ๓ ตำบลลานดอกไม้ ห่างจากตัวเมือง ๑๓ กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ สายกำแพงเพชร-พรานกระต่าย แยกซ้ายเข้าไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เป็นน้ำพุร้อนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน จำนวน ๕ จุด อุณหภูมิประมาณ ๔๐-๖๕ องศาเซลเซียส จากการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่าไม่มีสารปนเปื้อน และเชื้อโรคอันตรายเกินมาตรฐานแต่อย่างใด มีสถานที่ให้บริการอาบน้ำแร่ในบริเวณน้ำพุร้อนแห่งนี้ด้วย

เมืองไตรตรึงษ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลไตรตรึงษ์ บนทางหลวงหมายเลข ๑ สายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ห่างจากตัวเมือง ๑๘ กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยสิริกษัตริย์เชียงราย ซึ่งได้หนีข้าศึกจากเชียงราย ลงมาสร้างเมืองนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ . ๑๕๔๒ ปัจจุบันโบราณสถานต่างๆ ทรุดโทรมลงมาก เหลือเพียงซากเจดีย์
และเชิงเทินเท่านั้น

ตลาดกล้วยไข่ ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ สายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ตรงกิโลเมตรที่ ๓๔๓ มีเพิงขายกล้วยไข่ทั้งดิบและสุก กล้วยฉาบ และสินค้าพื้นเมืองอื่น ๆ ตั้งอยู่เรียงรายเป็นระยะทางยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร


กำแพงเพชร อยู่ทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ทางทิศเหนือและทิศใต้ของจังหวัดเป็นที่ราบ ทางทิศตะวันตกเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและเป็นต้นน้ำของลำธารต่าง ๆ เช่น คลองสวนหมาก คลองวังเจ้า คลองขลุง และคลองแขยง ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่เป็นแม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านกลางพื้นที่ของจังหวัดตั้งแต่เหนือสุดจนใต้สุด

กำแพงเพชร เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าที่ปรากฎหลักฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยไม่น้อยกว่า 700 ปี เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ กำแพงเมืองและป้อมปราการจึงถูกสร้างอย่างแข็งแรงและยังเหลือร่องรอยอยู่จน ปัจจุบัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก่อนมีเมืองกำแพงเพชรเคยมีเมืองเก่ามาก่อน 2 เมือง คือเมืองชากังราว ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง และเมืองนครชุม อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง

กำแพงเพชร จึงเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และธรรมชาติป่าเขา น้ำตก อันงดงาม มีอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2534 และยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังคงสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ นก สัตว์ต่าง ๆ อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความงามอีกด้วย

จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 358 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8,607.5 ตารางกิโลเมตร

การปกครอง
จังหวัดกำแพงเพชร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ คือ อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอคลองขลุง อำเภอคลองลาน อำเภอไทรงาม อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอพรานกระต่าย อำเภอลานกระบือ อำเภอปางศิลาทอง อำเภอทรายทองวัฒนา อำเภอบึงสามัคคี และอำเภอโกสัมพีนคร
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดตาก และอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอโพธิ์ทะเล และอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
- อำเภอพรานกระต่าย 25 กิโลเมตร
- อำเภอไทรงาม 43 กิโลเมตร
- อำเภอคลองลาน 50 กิโลเมตร
- อำเภอคลองขลุง 43 กิโลเมตร
- อำเภอลานกระบือ 55 กิโลเมตร
- อำเภอขาณุวรลักษบุรี 79 กิโลเมตร
- กิ่งอำเภอทรายทองพัฒนา 53 กิโลเมตร
- กิ่งอำเภอปางศิลาทอง 70 กิโลเมตร
- กิ่งอำเภอบึงสามัคคี 90 กิโลเมตร
- กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร 35 กิโลเมตร
หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 055)

สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร

711-344

ททท. สำนักงานภาคเหนือ เขต 4

514-341-3

ตำรวจทางหลวง

511-340

ตู้ยามแม่สอด

532-222

รพ.กำแพงเพชร

711-232 , 711-234

รพ.ทุ่งโพธิ์ทะเล

714-098

รพ.คลองขลุง

781-007 , 711-006

รพ.ไทรงาม

713-336

รพ.คลองลาน

786-005

รพ.ขาณุวรลักษ์บุรี

779-013

รพ.พรานกระต่าย

761-014

รพ.ลานกระบือ

769-085

สถานีตำรวจ

711-199

สถานีขนส่งจังหวัด

799-273

ไปรษณีย์จังหวัด

711-030

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น