วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดเพชรบุรี :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)
เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 92 เมตร เดิมเรียกว่า เขาสมนหรือเขาคีรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวัง สำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเพชรนิสัยศรีสวัสดิ์ ปลัดเมืองเพชรบุรีเป็นนายงานก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้

พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก แบบนิโอคลาสสิค ผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้

ยอดเขาด้านทิศตะวันออก
บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่งบนผนังทั้งสี่ด้าน เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหลังเป็นพระพุทธเสลเจดีย์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก

เขายอดกลาง
เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร มีความสูง 40 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน จากจุดนี้สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ บนยอดเขาอีก 2 ยอด รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย

ยอดเขาด้านทิศตะวันตก
เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร ตำหนักสันถาคารสถาน หอจตุเวทปริตพจน์ ศาลาทัศนา-นักขัตฤกษ์ นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ โรงม้า ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน ศาลาต่าน ศาลาเย็นใจ ทิมดาบ โรงครัว ตามแบบพระราชวังทั่วไป รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศคือ ป้อมทศรถป้องปากทางทิศตะวันออก ป้อมวรุฬหกบริรักษ์ทางทิศใต้ ป้อมวิรุฬปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ

กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวัง บนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริด และทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวันเว้นวันจันทร์ และวันอังคาร

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชม (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี) ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 20 บาท นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมเขาวังได้โดยการเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ รวมค่าเข้าชมทั้งหมด) เสียค่าบริการ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท

วัดพระพุทธไสยาสน์
ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในสี่ของประเทศ

เขาบันไดอิฐ
เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร อยู่ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร บนยอดเขามีวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ชื่อวัดเขาบันไดอิฐ อันเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาแต่เดิม ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าอธิการแสงแห่งวัดเขาบันไดอิฐ มีชื่อเสียงในด้านกรรมฐานมาก สมเด็จพระเจ้าเสือเคยทรงฝากตัวเป็นศิษย์ นอกจากวัดเขาบันไดอิฐ ถ้ำแรก คือ “ถ้ำประทุน” มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ “พระเจ้าเสือ” ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรสูงประมาณ 2 เมตร และได้ประดิษฐานไว้ที่ถ้ำนี้ ถ้าหากเดินต่อลึกเข้าไปทางด้านใต้จะมีบันไดลงสู่ถ้ำอีกคูหาหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ด้วยมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ มีพุทธลักษณะที่งดงาม และตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือ ทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เขาบันไดอิฐยังมีถ้ำอีกมากมาย เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ พระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก และถ้ำดุ๊ค ซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้

ถ้ำเขาหลวง
อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมียอดสูงสุดเพียง 92 เมตร มีหินงอกหินย้อยสีสันสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น สำหรับถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่ และสำคัญที่สุดของจังหวัด ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่เสด็จประพาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดถ้ำเขาหลวงมาก ได้ทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วยกัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ

ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวา มือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า “วัดถ้ำแกลบ” ปัจจุบันชื่อ “วัดบุญทวี” ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมือลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว

วัดมหาธาตุวรวิหาร
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 เมตร เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตก ภายในวัดแบ่งเขตพุทธวาสออกจากเขตสังฆาวาส สิ่งที่น่าสนใจในวัด ได้แก่ ปรางค์ห้ายอด เป็นปรางค์ก่ออิฐฉาบปูน สร้างตามคติมหายานถวายพระธยานิพุทธทั้งห้า ซึ่งทำรูปจำลองประดิษฐานอยู่บนยอดปรางค์แต่ละองค์ สันนิษฐานว่าเดิมปรางค์ห้ายอดนี้ คงจะเป็นพระเจดีย์ห้ายอดเช่นเดียวกับที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วมาแก้ไขเป็นปรางค์ในสมัยหลัง ภายในปรางค์ใหญ่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพปูนปั้นต่าง ๆ ในวิหารหลวงและพระอุโบสถ ฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งหาดูได้ยาก นอกจากนั้นในวิหารยังบรรจุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือมาก คือ รูปหลวงพ่อวัดมหาธาตุ รูปหลวงพ่อบ้านแหลม และรูปหลวงพ่อวัดเขาตะเครา

วัดใหญ่สุวรรณาราม
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้ปฏิสังขรณ์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ หรือพระศรีสรรเพชรที่ 8 โดยสมเด็จพระสังฆราชแตงโม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิสังขรณ์ และสร้างพระระเบียงคดรอบพระอุโบสถที่ไม่มีหน้าต่าง ภายในมีภาพเขียนเทพชุมนุมที่แปลกกว่าที่อื่น ภาพเขียนนี้มีอายุกว่า 300 ปีมาแล้ว

ศาลาการเปรียญ
เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง เดิมเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังที่อยุธยา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือได้ทรงถวายแก่สมเด็จพระสังฆราช ศาลาการเปรียญวัดนี้มีความสวยงามมาก ฝีมือการแกะสลักไม้อ่อนช้อยงดงาม โดยเฉพาะที่บานประตู ภายในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์เทศน์ ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด

วัดกำแพงแลง
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่

หาดเจ้าสำราญ
อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3177 เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใดๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ สำเร็จในปี พ.ศ. 2461 ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่มฤคทายวัน

พระรามราชนิเวศน์ หรือ “พระราชวังบ้านปืน”
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนคร สวรรค์วรพินิต กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาลเดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล ฯลฯ

การเข้าชมต้องทำหนังสือล่วง หน้าถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบก กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 หรืออาจติดต่อที่ป้อมยามแลกบัตร เพื่อขอเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ



จังหวัดเพชรบุรี :: ข้อมูลทั่วไป

เพชรบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลางที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 123 กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งสมัยสุโขทัยและมีหลักฐานทาง โบราณคดี ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยขอมและสมัยทวารวดี ทั้งยังเคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยา

เพชรบุรี มีพื้นที่ 6,255.138 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับสหภาพพม่า เฉพาะในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบไปจนจดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยซึ่งมีความยาวจาก เหนือจดใต้ ประมาณ 80 กิโลเมตร พื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวตลอดสาย 227 กิโลเมตร แม่น้ำบางกลอย มีความยาว 44 กิโลเมตร และแม่น้ำบางตะบูน มีความยาว 18 กิโลเมตร

ประชากรจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนา สวนผลไม้ ทำน้ำตาลโตนด เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง

ประวัติและความเป็นมา
เพชรบุรี เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ นับเนื่องไปได้เป็นพันปี จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่บ่งว่าเคยมีคนอาศัยอยู่ เป็นชุมชนถาวรนั้น มีอายุย้อนไปถึงยุคทวารวดีเลยทีเดียว

ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ อยู่ในดินแดนบางส่วนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ คือ ในราว 800 ปีมาแล้วนั้น มีจารึกพระขรรค์ ที่กล่าวถึงเมืองเมืองหนึ่ง ที่ชื่อว่า "ศรีวิชัยวัชรปุระ" เมืองนี้ นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า หมายถึงเมืองเพชรบุรี ด้วยเหตุที่คำว่า วัชรปุระ นั้น เมื่อแผลงอักษร ว เป็น พ ก็จะได้เป็นพัชร หรือ เพชร และ ปุระกับบุรี ก็มีความหมายเหมือนกัน ดังนั้น วัชรปุระ กับ เพชรบุรี ก็คือ คำคำเดียวกันนั่นเอง

ชื่อเมืองเพชรบุรีนี้ จะมีที่มาจากอะไรหรือ มีความหมายเกี่ยวเนื่องมาจากสิ่งใดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ชื่อ เพชรบุรี นั้น ก็ปรากฎหลักฐาน เป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีใช้ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับชื่อ วัชรปุระ โดยมีกล่าวถึงในจารึกสมัยสุโขทัย อายุกว่า 700 ปีมาแล้ว เป็นเรื่องราวการเดินทางของเชื้อพระวงศ์กษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่ง จากศรีลังกา กลับมายังสุโขทัย ในจารึกกล่าวว่า เมื่อขึ้นบกที่เมืองตะนาวศรีแล้ว ท่านได้เดินทางผ่านเพชรบุรี ราชบุรี และอยุธยา เพื่อจะกลับไปยังสุโขทัย

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรี มีความเกี่ยวข้องกับตำนานของปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยาว่า พระเจ้าอู่ทองนั้น เคยครองเมืองเพชรบุรีมาก่อน แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก็คือ ตลอดสมัยอาณาจักรอยุธยา ซึ่งมีศึกสงครามรบพุ่ง กับรัฐหรือ อาณาจักรใกล้เคียงอยู่แทบจะไม่ว่างเว้นนั้น เพชรบุรี เป็นหัวเมืองสำคัญอย่างยิ่งในสองสถานะ สถานะแรกคือ เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของเพชรบุรี มีพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูก ทำนา ที่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง สถานะที่สอง คือ เป็นเมืองที่มีชัยภูมิดี ทั้งทางบกและทางทะเล ในยามศึก เพชรบุรี เป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ ที่สำคัญของอาณาจักรอยุธยา เมื่อพม่ายกทัพมาทางบก โดยใช้เส้นทางช่องสิงขรด้านใต้ ในยามสงบ เพชรบุรี มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ที่ช่วยดูแลหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเล

เพชรบุรี คงดำรงสถานะหัวเมืองสำคัญเช่นนี้ สืบมาจนล่วงเข้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อังกฤษ เข้ายึดครองพม่า ทำให้การสงครามระหว่างพม่า กับไทย ยุติลงอย่างสิ้นเชิง บทบาทหัวเมืองหน้าด่านของ เพชรบุรี จึงเปลี่ยนแปลงไปนับแต่นั้นมา

ในสมัยต่อมา เพชรบุรี ยังคงมีชื่อปรากฎเกี่ยวข้องอยู่กับประวัติศาสตร์ไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วย พระมหากษัตริย์ แต่ความสำคัญของเมืองเพชร กลับกลายจากเมืองทางยุทธศาสตร์ มาเป็นเมืองที่ประทับ ในการเสด็จแปรพระราชฐาน ของพระมหากษัตริย์ ถึงสามรัชกาลติดต่อกัน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ร่องรอยที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ที่ยังคงเหลืออยู่ ได้แก่ ความทรงจำที่เล่าขานกันสืบมา อย่างภาคภูมิใจ ในหมู่ชาวเมืองเพชร และพระราชวังสำคัญสามแห่ง คือ พระนครคีรี พระรามราชนิเวศน์ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่ยังคงอยู่คู่เมืองเพชรบุรีสืบมา
อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศตะวันออก ติดต่อชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพพม่า

จังหวัดเพชรบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอเขาย้อย อำเภอ หนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านแหลม อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอชะอำ

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 032)

งานข่าวสารการท่องเที่ยว ททท.

02-694-1222 ต่อ 8 , 02-282-9773

ททท.ภาคกลางเขต 2 (ชะอำ)

032-471-005-6

ประชาสัมพันธ์จังหวัด

032-428-047 , 032-425-573

ตำรวจท่องเที่ยว

1155

ตำรวจทางหลวง

032-425-005

สภ.อ.เมือง

032-425-500

สภ.ต.หาดเจ้าสำราญ

032-478-300

สภ.อ.แก่งกระจาน

032-459-267

สภ.อ.เขาย้อย

032-562-500

สภ.อ.ชะอำ

032-471-321

สภ.อ.ท่ายาง

032-461-500

สภ.อ.บ้านลาด

032-491-100

สภ.อ.บ้านแหลม

032-481-500

สภ.ต.บางตะบูน

032-489-250

สภ.อ.หนองหญ้าปล้อง

032-494-364

รพ.ค่ายรามราชนิเวศน์

032-428-085 , 032-428-506-9

รพ.ผลกำเนิดศิริ

032-425-075

รพ.พระจอมเกล้า

032-401-251-7

รพ.เพชรรัชต์

032-417-070-9

รพ.เมืองเพชร-ธนบุรี

032-415-191-9

รพ.วัชรเวช

032-425-592

รพ.สหแพทย์

032-427-980 , 032-428-203

รพ.แก่งกระจาน

032-459-258

รพ.เขาย้อย

032-562-200

รพ.ชะอำ

032-471-007

รพ.ท่ายาง

032-461-100

รพ.บ้านลาด

032-491-051

รพ.บ้านแหลม

032-481-145

รพ.หนองหญ้าปล้อง

032-494-353-4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น