วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดอำนาจเจริญ :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

พุทธอุทยานและพระมงคลมิ่งเมือง
ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดประกอบด้วย หินดานธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น "พุทธอุทยาน" ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ ปางมารวิชัย องค์พระหน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ โดยการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กครอบ พระองค์เดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น มีฐานกว้าง 8.4 เมตร ยาว 12.6 เมตร สูง 5.2 เมตร แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจำภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมือง มีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลืองลออตา มีนามว่า "พระละฮาย" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระขี่ล่าย" หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทำฝายกั้นน้ำ ถือกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ชาวบ้านมักมาบนบานขอพรอยู่เสมอ

วัดถ้ำแสงเพชร หรือวัดศาลาพันห้อง
ตั้งอยู่บนถนนสายอำนาจเจริญ-เขมราฐ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วย วิหารอยู่บนยอดเขาสูง ทางด้านทิศเหนือของวิหาร มีถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ "พระเหลาเทพนิมิตร" เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานในพระอุโบสถ องค์พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ลงรักปิดทองงดงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2263 กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะ งดงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งจัดอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทน์ ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-22 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากระยะเวลาดังกล่าวไปเล็กน้อย เนื่องจากมีอิทธิพลของฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มาก เป็นต้นว่าเค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้น สัดส่วนของพระเพลา และพระบาท ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้ และสำริด ที่สร้างขึ้นระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24

วัดไชยาติการาม
ตั้งอยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน วัดนี้มีพระพุทธรูปสำริดประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสูง 55 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทน์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์ และพระพุทธรูปที่วัดวิชุล เมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงพุทธศตวรรษที่ 23

แหล่งทอผ้าไหม
ตั้งอยู่ที่บ้านสร้อย ตำบลจานลาน เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ทอผ้าไหม จัดเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน และเป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร คือ ปลูกหม่อนเลี้ยงตัวไหมเอง ทอผ้าไหมเอง และจัดจำหน่ายผ้าไหมเองด้วย



จังหวัดอำนาจเจริญ :: ข้อมูลทั่วไป
จังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ โดยเส้นทางรถยนต์ประมาณ 568 กิโลเมตร มีพื้นที่การปกครองทั้งสิ้น 3,161.248 ตารางกิโลเมตร เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขึ้นอยู่กับนครเขมราฐ ต่อมาจึงได้ย้ายมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดยโสธร ที่อำเภอเลิงนกทา และจังหวัดมุดาหาร ที่อำเภอดอนตาล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงด้าน อำเภอชานุมาน เป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร และติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่อำเภอ เขมราฐ อำเภอกุดข้าวปุ้น และอำเภอตระการพืชผล
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยโสธร ที่อำเภอป่าติ้ว และอำเภอเลิงนกทา
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่อำเภอเมือง อุบลราชธานี และอำเภอม่วงสามสิบ

อำนาจเจริญ แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหัวตะพาน อำเภอพนา อำเภอเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา และกิ่งอำเภอลืออำนาจ

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 045)

ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 จ.อุบลราชธานี

243-770-1

ตำรวจท่องเที่ยว

1155

ตำรวจทางหลวง

451-656

สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง

512-007

ไปรษณีย์จังหวัด

451-495

สถานีขนส่งจังหวัด

511-018

รพ.อำนาจเจริญ

451-025 , 451-075

รพ.ชานุมาน

499-002

รพ.เสนางนิคม

461-008

รพ.พนา

486-003

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น