วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดลพบุรี :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ตั้งอยู่กลางวงเวียนเทพสตรีใกล้ศาลากลางจังหวัดลพบุรี บริเวณหัวถนนนารายณ์มหาราชก่อนเข้าสู่ย่านตัวเมือง อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นรูปปั้นในท่าประทับยืนผินพระพักตร์ไป ทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ก้าวพระบาทซ้ายออกมาข้างหน้าเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2509 ที่ฐานอนุสาวรีย์ได้จารึกข้อความว่า “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ไทยผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ทรงพระราชสมภพ ณ กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2175 สวรรคต ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 2231 พระองค์ทรงมีพระบรมราชกฤษดาภินิหารเป็นอย่างยิ่ง”

ในรัชสมัยของพระองค์ วรรณคดีและศิลปะของไทยได้เจริญถึงขีดสูงสุด มีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง เกียรติคุณของประเทศไทยแผ่ไพศาลเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณ ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันสร้าง และประดิษฐานอนุสาวรีย์นี้ไว้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

สระแก้ว
ตั้งอยู่กลางวงเวียนศรีสุริโยทัย หรือวงเวียนสระแก้ว ถนนนารายณ์มหาราช เป็นสระน้ำขนาดใหญ่กลางสระมีสถาปัตยกรรมรูปร่างคล้ายเทียนขนาดยักษ์ ตั้งอยู่บนพานขนาดใหญ่รอบขอบพานประดับเครื่องหมายประจำกระทรวงต่าง ๆ มีสะพานเชื่อมถึงกันโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ที่เชิงสะพานมีคชสีห์ในท่านั่งหมอบเป็นยามอยู่สะพานละ 2 ตัว

สวนสัตว์สระแก้วลพบุรี
ตั้งอยู่หลังโรงภาพยนต์ทหารบก สวนสัตว์แห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2483 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้มุ่งพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองสำคัญ โดยได้ก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ มากมายรวมทั้งสวนสัตว์แห่งนี้ด้วย ต่อมาเมื่อสิ้นยุคสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม สวนสัตว์ก็พลอยถูกทอดทิ้งและร้างไปในที่สุด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ศูนย์สงครามพิเศษ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่สวนสัตว์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งชมรม สโมสร พ่อค้า ประชาชน ดำเนินการปรับปรุงบูรณะสวนสัตว์แห่งใหม่ ให้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งสำหรับศึกษาหาความรู้ในเรื่อง สัตว์และพืช

สวนสัตว์สระแก้วลพบุรี มีบริการร่มรื่น กว้างขวาง มีสัตว์ต่าง ๆ หลายชนิด มีสนามเด็กเล่น ศาลาอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ มีสระน้ำสำหรับผู้ประสงค์จะลอยเรือเล่น นับเป็นสวนสัตว์ในต่างจังหวัดที่มีความสมบูรณ์ พอสมควรแก่การบริการประชาชนในท้องถิ้น เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 18.00 น. ค่าผ่านประตูผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท รถยนต์ 5 บาท

พระที่นั่งไกรสรสีหราช
(พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร)ตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์ฯโปรดให้สร้างขึ้น เพื่อทรงสำราญพระราชอริยาบถ บันทึกของชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประพาสป่าล่าช้างบริเวณภูเขาทางทิศตะวันออก แล้วจะกลับเข้าเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ สร้างขึ้นในปีใดในรัชกาลของพระองค์ไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการที่พระองค์ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากประเทศฝรั่งเศส ณ พระที่นั่ง ใน พ.ศ. 2228 จึงเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าพระที่นั่งเย็นได้สร้างก่อน พ.ศ. 2228 องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร ซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ สภาพปัจจุบันเหลือแต่ผนังเครื่องบนหักพังหมดแล้ว

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม คือ เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว มีผนังเป็นทรงจตุรมุข ตรงมุขหน้าเป็นมุขเด็จยื่นออกมา และมีสีหบัญชรกลางมุขเด็จสำหรับสมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จออกซุ้มหน้าต่าง และซุ้มประตูทำเป็นซุ้มเรือนแก้ว เป็นแบบแผนที่นิยมทำกันมากในอาคารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ในบริเวณพระที่นั่งเย็นมีอาคาร เล็กๆ ก่อด้วยอิฐอื่นๆ อีก ซึ่งทำประตูหน้าต่างเป็นแบบโค้งแหลม ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นที่พักทหาร ด้านหน้าและด้านหลังพระที่นั่งมีเกยทรงม้าหรือช้างด้านละแห่ง

พระที่นั่งเย็นมีความสำคัญใน ฐานะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ใช้เป็นสถานที่สำรวจจันทรุปราคา เมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 และทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2231ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิต และบุคคลในคณะทูตชุดแรก ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี เหตุที่ได้ใช้พระที่นั่งเย็นเป็นที่สำรวจ จันทรุปราคา มีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าเป็นที่เหมาะสมมองท้องฟ้าได้ทุกด้าน และมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับที่จะติดตั้งเครื่องมือ ยังมีภาพการสำรวจจันทรุปราคาที่พระที่นั่งเย็นซึ่งชาวฝรั่งเศสวาดไว้ เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสวมลอมพอก ทรงกล้องส่องยาววางบนขาตั้ง ทอดพระเนตรดวงจันทร์จากสีหบัญชรของพระที่นั่งเย็น และตรงเฉลียงสองข้างสีหบัญชรด้านหนึ่งมีขุนนางหมอบกราบ อีกด้านหนึ่งมีนักดาราศาสตร์กำลังสังเกตการณ์โดยใช้กล้องส่อง จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระที่นั่งเย็น เมืองลพบุรีนี้เอง

ศาลพระกาฬ
อยู่ใกล้สถานีรถไฟและทางด้านทิศตะวันออกพระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง จึงรียกกันมาแต่ก่อนอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลสูง” ที่ทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ทำด้วยศิลาทราย 1 แผ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็ก ชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยมจารึกอักษรมอญโบราณ

ส่วนด้านหน้าเป็นศาลที่สร้าง ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 โดยสร้างทับบนรากฐานเดิมที่สร้างไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในวิหารประดิษฐานพระนารายณ์ยืน ทำด้วยศิลา 2 องค์ องค์เล็กเป็นแบบเทวรูปเก่าในประเทศไทย องค์ใหญ่เป็นประติมากรรมแบบลพบุรี แต่พระเศียรเดิมหายไป ภายหลังมีผู้นำพระเศียรพระพุทธรูปศิลาทรายสมัยอยุธยามาสวมต่อไว้เป็นที่ เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป

ในบริเวณรอบศาลพระกาฬร่มรื่น ด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดลพบุรี มีร้านขายของที่ระลึกและอาหารสำหรับลิง ตลอดจนศาลาพักผ่อนมีถนนตัดรอบทำให้โบราณสถานมีลักษณะเป็นวงเวียน

พระปรางค์สามยอด
ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ ตำบลท่าหิน มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง หินทรายและตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ตรงซุ้มประตูเดิมคงมีทับหลัง แต่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือ เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปเขมรแบบบายน ปรางค์องค์กลางมีฐานแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีเพดานไม้เขียน ลวดลายเป็นดอกจันทน์สีแดง

ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีวิหารสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ปางสมาธิที่สมบูรณ์ดี เป็นศิลปะแบบสมัยอยุธยาตอนต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20

ปรางค์สามยอดนี้แต่เดิมคงเป็น เทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถานโดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ในองค์ปรางค์ทั้งสาม ปรางค์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์สามยอดเป็นวัดในพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรป ในส่วนของประตูและหน้าต่าง ภายในวิหารประดิษฐานพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

เทวสถานปรางค์แขก
อยู่ใกล้กับนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐมี 3 องค์ แต่ไม่มีฉนวนเชื่อมต่อกันเหมือนปรางค์สามยอด นักโบราณคดีกำหนดว่า มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะมีลักษณะคล้ายกับปรางค์ศิลปะเขมรแบบพะโค (พ.ศ. 1425-1536) เป็นปรางค์แบบเก่า ซึ่งมีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างวิหารขึ้นด้านหลัง และถังเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของปรางค์

วัดมณีชลขัณฑ์
สร้างในสมัยรัชการที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตลาดท่าโพธิ์ มีโบราณสถานที่น่าสนใจคือ พระเจดีย์รูปทรงแปลก คือก่อเป็นเหลี่ยมสูงชะลูดขึ้นไป เหลี่ยมคล้ายกับเจดีย์เหลี่ยมสมัยเชียงแสน (ล้านนา) แต่ตรงมุมมีการย่อมุมไม้สิบสอง ทำเป็นสามชั้น มีซุ้มประตูยอดแหลมอยู่ด้านข้างทั้งสี่ด้านทุกชั้น

วัดนครโกษา
อยู่ทางตอนเหนือของสถานีรถไฟลพบุรีด้านทิศตะวันออกใกล้กับศาลพระกาฬ มีซากโบราณสถาน คือ เจดีย์องค์ใหญ่สมัยทวาราวดี พระปรางค์สมัยลพบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ 17 อยู่ด้านหน้า แต่พระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์นั้นสร้างขึ้นภายหลัง และยังพบเทวรูปขนาดใหญ่มีร่องรอยการดัดแปลงเป็นพระพุทธรูป 2 องค์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เทวสถานแห่งนี้ภายหลังสร้างเป็นวัดขึ้นในสมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากซากวิหารซึ่งเหลือแต่ผนัง และเสาอยู่ทางด้านหน้าและมีเป็นเจดีย์สูงก่อด้วยอิฐอยู่เบื้องหลัง คำว่า “วัดนครโกษา” มีผู้สันนิษฐานว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นผู้บูรณะจึงเรียกว่า “วัดนครโกษาปาน” ตามราชทินนามนั่นเอง

วัดสันเปาโล
ตั้งอยู่ถนนร่วมมิตร ทางเข้าวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี เป็นวัดของพวกบาทหลวงเยซูอิต สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ปัจจุบันคงเหลือเพียงผนังด้านหนึ่งและหอดูดาว บริเวณโดยรอบมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น คำว่า “สันเปาโล” คงเพี้ยนมาจากคำว่าเซ็นตปอลหรือเซ็นทเปาโล ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ตึกสันเปาหล่อ”

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
เป็นวัดเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดของลพบุรีตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟ ลพบุรี อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกของพระปรางค์สามยอด วัดนี้มีมาตั้งแต่สมัยขอม มีอำนาจปกครองลพบุรีอยู่แต่ได้นับการบูรณะปฏิสังขรณ์ สืบต่อมาหลายยุคหลายสมัย ทำให้ศิลปกรรมที่ปรากฏเหลืออยู่จึงแตกต่างกันมาก

เมื่อเข้าไปในบริเวณวัด จะพบศาลาเปลื้องเครื่องเป็นอันดับแรก ศาลากลางเปลื้องเครื่องนี้ ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรง ก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ศาสนาเปลื้องเครื่องตั้งอยู่หน้าวิหาร คงเหลือเพียงเสาเอนเอียงอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว ถัดจากศาลาเปลื้องเรื่องเป็นวิหารหลวง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารขนาดใหญ่มาก ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิคของฝรั่งเศส ภายในสร้างฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปทางทิศใต้ของวิหารหลวง เป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวง เป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลวดลายจึงมีปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก

วัดเสาธงทอง
ตั้งอยู่บนถนนฝรั่งเศสซึ่งตัดเชื่อมระหว่างพระราชวังนารายณ์ฯ กับบ้านหลวงรับราชทูต เป็นวัดเก่าแก่เดิมแยกเป็น 2 วัด คือ วัดรวก และวัดเสาธงทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้รายงานกราบทูลเสนอความเห็น ต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณาโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลอยุธยาว่า วัดรวกมีโบสถ์ วัดเสาธงมีวิหาร สมควรจะรวมเป็นวัดเดียวกัน ทรงดำริเห็นชอบให้รวมกัน และให้เรียกชื่อว่า วัดเสาธงทอง

วัดนี้มีโบราณสถานที่ควรชม คือ พระวิหารซึ่งแต่เดิมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่น เพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งเศสทำไว้ ระบุว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม ของชาวเปอร์เซียก็เป็นได้ นอกจากนั้นก็มีตึกปิจู ตึกคชสาร หรือตึกโคระส่าน เป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่า ใช้เป็นที่พำนักของแขกเมือง และราชทูตต่างประเทศชาวเปอร์เซีย

บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์
ตั้งอยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ห่างจากปรางค์แขกประมาณ 300 เมตร ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้พัก ณ สถานที่แห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า บ้านหลวงรับราชทูต และเนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่พำนักของเจ้าพระยาวิชยาเยนทร์ ขุนนางสำคัญในสมัยนั้น ในภายหลังจึงได้ชื่อว่า “บ้านวิชาเยนทร์” อีกชื่อหนึ่ง

พื้นที่ในบริเวณบ้านหลวงรับ ราชทูตแบ่งออกเป็น 3 ส่วน สังเกตได้จากประตูเข้าด้านหน้า ซึ่งสร้างไว้สำหรับเป็นทางเข้าออกแต่ละส่วน คือ

ส่วนทิศตะวันตก ส่วนกลาง และส่วนทางทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันตก เป็นกลุ่มอาคาร ได้แก่ ตึก 2 ชั้นหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐ และอาคารชั้นเดียว แคบยาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม

ส่วนกลาง มีอาคารที่สำคัญ คือ ฐานของสิ่งก่อสร้างซึ่งเข้าใจว่าเป็นหอระฆังและโบสถ์คริสตศาสนา ซึ่งอยู่ทางด้านหลังซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปจั่ว

ส่วนทิศตะวันออก ได้แก่ กลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ซุ้มประตูทางเข้ามีลักษณะเช่นเดียวกับทางทิศตะวันตก

ลักษณะของสถาปัตยกรรมในบ้าน หลวงรับราชทูตบางหลัง เป็นแบบยุโรปอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอาคารใหญ่ทางทิศตะวันออก ก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น หน้าต่างและซุ้มประตูแสดงให้เห็นลักษณะศิลปะตะวันตกแบบเรอเนสซองส์ ซึ่งเจริญแพร่หลายในระยะเวลาเดียวกัน และที่สำคัญอีก คือ อาคารที่เป็นโบสถ์คริสตศาสนา ผังและแบบของโบสถ์เป็นแบบยุโรป มีซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว มีเสาปลายเป็นรูปกลีบบัวยาว ซึ่งเป็นศิลปะแห่งไทย โบสถ์เหล่านี้ถือกันว่า เป็นโบสถ์คริสตศาสนาหลังแรกในโลก ที่ตกแต่งด้วยลักษณะของโบสถ์ทางพระพุทธศาสนา

พระนารายณ์ราชนิเวศน์
เป็นพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2290 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี แบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน กำแพงพระราชวังก่อด้วยอิฐถือปูน มีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพง มีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ประตู ช่องประตูทางเข้าโค้งแหลม หลังตาประตูเป็นทรงจตุรมุข ตรงจั่วซุ้มประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นในมีช่องเล็ก ๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลมคล้ายบัวเรียงเป็นแถวสำหรับวางตะเกียง ประมาณ 2,000 ช่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2399 เพื่อให้เป็นราชธานีชั้นใน และพระราชทานชื่อว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในรัชสัมยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระที่นั่งและตึก ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
เป็นพระที่นั่งศิลปกรรมแบบไทยและฝรั่งเศสผสมกัน เดิมเป็นท้องพระโรงมียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร เป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ฝาผนังประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งนำมาจากประเทศฝรั่งเศส ประตูและหน้าต่างท้องพระโรง ซึ่งอยู่ด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทำประตูหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่าง เจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับวางตะเกียง ซึ่งจะเห็นได้อีกเป็นจำนวนมากตามซุ้มประตู และกำแพงของพระราชวัง สมเด็จพระนารายณ์เคยเสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศส เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ที่พระที่นั่งองค์นี้ในปี พ.ศ. 2228 ด้วย

พระที่นั่งจันทรพิศาล
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2208 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่สร้างทับลงไปบนรากฐานเดิม ของพระที่นั่งซึ่งพระราเมศวรโอสรองค์ใหย๋ของพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงสร้างเมื่อครั้งครองเมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ด้านหน้ามีมุขเด็จ ภายหลังเมื่อได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ขึ้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งองค์ใหม่ และโปรดให้ใช้พระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นที่ออกขุนนาง ซึ่งตรงกับบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นหอประชุมองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ตามแบบของเดิม ปัจจุบันใช้จัดแสดงเรื่องราว พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งสุทธาสวรรค์
เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์สมเด็จพระนารายณ์ฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่ มีสระน้ำใหญ่สี่สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ใน พ.ศ.2231

ตึกพระเจ้าเหา
ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเขตพระราชฐานชั้นนอก ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้อย่างชัดเจนมาก เป็นตึกที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ตัวตึกเป็นรูปทรงไทย ฐานก่อด้วยศิลาแสง และจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ผนังประตูหน้าต่าง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ปัจจุบันคงปรากฏลายให้เห็นอยู่ ด้วยเหตุว่าภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่และชาวฝรั่งเศสได้ระบุว่า เป็นวัด จึงสันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง ตึกพระเจ้าเหาหรือ “พระเจ้าหาว” (หาว=ท้องฟ้า-ภาษาไทยโบราณ) ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเทพราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ใช้ตึกพระเจ้าเหาเป็นที่นัดแนะประชุมขุนนางและทหารเพื่อ แย่งชิงราชสมบัติขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวรหนัก

ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศ
ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงรายได้ระยะยาว 20 แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230

พระคลังศุภรัตน์ (หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง)
เป็นหมู่ตึกตั้งอยู่ระหว่างถังเก็บน้ำประปาและตึกซึ่งใช้เป็นสถานที่พระราช ทานเลี้ยงชาวต่างประเทศ สร้างขึ้นอย่างมีระเบียบด้วยอิฐเป็น 2 แถวยาวเรียงชิดติดกัน อาคารมีลักษณะค่อนข้างทึบ มีถนนผ่ากลาง มีจำนวนรวม 12 หลัง เข้าใจว่าเป็นคลังเพื่อเก็บสินค้า หรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ

อ่างซับเหล็ก หรืออ่างซับเหล็กหรือถังเก็บน้ำ
อยู่ในเขตตำบลนิคมสร้างตนเองห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร

อ่าง ซับเหล็กเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณ ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดให้ช่างชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาเลียนเป็นผู้วางท่อส่งน้ำจากอ่างซับ เหล็กนำมาใช้ในเขตพระราชฐาน

อ่างซับเหล็กมีเนื้อที่ประมาณ 1,760 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2497 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้สร้างเขื่อนดินกั้นน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 จังหวัดลพบุรีได้ปรับปรุงอ่างซับเหล็กให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยทำถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ปลูกต้นไม้และสร้างศาลาพักร้อน

โรงช้างหลวง
ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐานปรากฎให้เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระที่นั่งและตึกซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งองค์นี้ขึ้นใน พ.ศ. 2405 ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ คือ มุขด้านซ้ายมือ พระที่นั่งอักษรศาสตราคมเป็นที่ทรงพระอักษร มุขด้านขวามือคือพระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งองค์ขวางตรงกลาง คือพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ ด้านหลังสุดเป็นอาคารสูง 3 ชั้น คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์

หมู่ตึกพระประเทียบ
ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน ก่อด้วยอิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายใน

ทิมดาบหรือที่พักของทหารรักษาการณ์
เมื่อเดิน ผ่านประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง ข้างประตูทั้งสองด้านตรงบริเวณสนามหญ้าจะแลเห็น ศาลาโถงข้างละหลัง นั่นคือตึกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
ได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งที่ 3 ที่ได้ตั้งขึ้นในประเทศไทย แห่งแรกนั้นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แห่งที่ 2 คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา แห่งที่ 3 คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลพบุรี ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466

อาคารจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ จัดแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ดังนี้

ห้องพระที่นั่งจันทรพิศาล
เป็นลักษณะสถาปัตย กรรมแบบทรงไทย จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ห้องหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
เป็นลักษณะสถาปัตย กรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคกลางของประเทศไทยและแหล่งโบราณคดี จังหวัดลพบุรี โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ ภาชนะสำริด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น

ห้องภาคกลางประเทศไทย
พ.ศ.800-1500 รับอิทธิพลวัฒนธรรมของอินเดียที่เรียกว่า สมัยทวารวดี จัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยีและการดำเนินชีวิต อักษร ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อถือ หลักฐานที่พบได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา เหรียญตราประทับดินเผา จารึกภาษาบาลี สันสกฤต และรูปเคารพต่าง ๆ

ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร - ลพบุรี
ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรี และบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปปางประทางอภัย เป็นต้น

ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 - 18 ศิลปกรรมที่พบตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้แก่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพิมพ์ และพระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง ๆ

ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 -24 ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้น และไม้แก่สลักต่าง ๆ

ห้องศิลปะร่วมสมัย
จัดแสดงภาพเขียนและภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย

ห้องประวัติศาสตร์
การเมือง สังคม วัฒนธรรมและพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งโปรดฯ ให้และสร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2399 ได้แก่ ภาพพระสาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีสัญลักษณ์มีรูปมงกุฎตราประจำพระองค์ เป็นต้น

ห้องหมู่ตึกพระประเทียบ
เป็นอาคารลักษณะสถาปัตยกรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร และศิลปหัตกรรมพื้นบ้านของคนไทยในภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรีที่ใช้ในอดีตจรถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยงกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมให้ชมกันเป็นครั้งคราว

การ เข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.30 น. หยุดวันจันทร์ - วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ การเข้าชมผู้เข้าชมจะต้องเสียค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาและพระภิกษุ สามเณรไม่ต้องเสียค่าเข้าชม ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ถนนสรศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000 โทร. (036) 411458

หมู่บ้านดินสอพอง (ทำดินสอพอง)
อยู่ที่บ้านหินสองก้อน ตำบลถนนใหญ่ ใช้เส้นทางไปอำเภอบ้านหมี่ ข้ามสะพาน 6 แล้วเลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทาน เป็นหมู่บ้านที่มีการทำดินสอพองกันแทบทุกครัวเรือน และบริเวณนั้นจะมีดินสีขาว เรียกว่า “ดินมาร์ล” ซึ่งเป็นดินที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการทำดินสอพอง

วัดยาง ณ รังสี และพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน
ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีด้านตะวันตก ด้านหน้าติดทางหลวงสายลพบุรี - บางปะหัน อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร เดิมเรียกว่า วัดพญายาง เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีต้นยางยักษ์ใหญ่ตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ท่ามกลางดง ต้นยาง สันนิษฐานกันว่าเดิมเป็นวัดโบราณอยู่กลางป่า น่าจะมีอายุตั้งแต่สมัยละโว้ เพราะมีประติมากรรมหินทรายประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถของวัด คือ พระพุทธรูปปางนาคปรก 2 องค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย 1 องค์ และพระพุทธรูปปางสมาธิ 1 องค์ เป็นเนื้อหินทรายและหินหนุมาน (หินสีเขียว) รูปทรงเป็นแบบสมัยของเรืองอำนาจ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อ ใหม่ถึง 2 ครั้ง เดิมเป็นวัดยางศรีสุธรรมาราม แล้วเปลี่ยนเป็นวัดยาง ณ รังสี จนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน
ตั้งอยู่ที่ศาลากลางเปรียญไม้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี เป็นสถาปัตยกรรมแบบศาลาวัดในชนบทของภาคกลางในประเทศไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยาก ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2531 โครงการพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านจึงได้เกิดขึ้น และนับเป็นพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านแห่งแรกของประเทศไทย

วัดตองปุ
หลังโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ตำบลทะเลชุบศร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นที่ชุมนุมกองทัพไทย ในวัดตองปุนี้มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ วิหาร หอไตร คลัง และหอระฆัง ล้วนเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนรอบทั้งสี่ด้านล้วนเป็นภาพที่หาดูได้ยาก นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ลักษณะคล้ายกับเจดีย์หลวงพ่อแสง วัดมณีชลขัณฑ์แต่มีขนาดเล็กกว่า และสัดส่วนงดงาม

วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร (วัดเขาพระงาม)
ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลพบุรีไปทางทิศเหนือตามถนนพหลโยธินไปประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลเขาพระงาม วัดเขาพระงามนี้เดิมเป็นวัดร้าง สร้างมาแต่เมื่อใดไม่มีปรากฏ ต่อมาในปี พ.ศ.2455 พระอุมาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ กับพระสงฆ์อีกรูปได้ธุดงค์มาพักที่วัดนี้ เห็นว่ามีภูมิประเทศดี จึงได้สร้างพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 11 วา สูงจากหน้าตักถึงยอดพระเศียร 18 วา เส้นพระศกทำด้วยไหกระเทียม เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายพระนามว่า พระพุทธนฤมิตรมัธยมพุทธกาล ครั้นภายหลังซ่อมเมื่อปี พ.ศ.2469 จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล”

บริเวณวัดมีกิจกรรมที่กำลัง เป็นที่สนใจของคนทั่วไปคือ การขายพลอยสีต่าง ๆ ที่เจียรไนจากหินควอท์ซึ่งขุดได้จากบริเวณเขาพระงาม เรียกว่า “เพชรพระงาม” ราคาพอสมควรที่นักท่องเที่ยวทุกระดับจะซื้อเป็นของที่ระลึกได้ ปัจจุบันมีแผงขายเพชรพระงามตั้งอยู่บริเวณลานหน้าวัด

วัดเวฬุวัน (วัดเขาจีนแล)
อยู่ในหุบเขาจีนแล ตำบลนิคมสร้างตนเอง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลพบุรีประมาณ 18 กิโลเมตร ทางเข้าเป็นถนนราดยางสภาพดี

เดิมบริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็น ป่าทึบเต็มไปด้วยต้นไผ่ พระครูอุบาลี ธรรมมาจารย์ (หลวงพ่อลี) ได้ธุดงค์มาถึงที่นี่เห็นภูมิประเทศเหมาะสมจึงได้ตั้งสำนักสงฆ์ขึ้น

วัดเขาจีนแลเป็นวัดที่สร้าง ขึ้นใหม่ สถานที่ร่มรื่น มีภูเขาล้อมรอบสี่ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ พระพุทธรูปใหญ่ที่หลวงพ่อลีสร้าง และพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงสร้างประดิษฐานอยู่บนยอดเขา มีโบสถ์รูปทรงแปลก จั่วเป็นซุ้มกุทุแบบอินเดีย รวมถึงหอสมุดและสำนักชี

วัดสุวรรณคีรีปิฎก (วัดเขาตะกร้า)
ตั้งอยู่เลยอ่างซับเหล็กเข้าไปมีถนนโรยกรวดเข้าไปถึงวัด ใกล้กับวัดเวฬุวัน ตำบลนิคมสร้างตนเอง สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 โดยหลวงพ่อบุญเหลือ ปภาโส เป็นวัดที่สร้างกุฏิและวิหารเกาะกับภูเขา มีเจดีย์สร้างใหม่องค์หนึ่งลักษณะงดงามดี วัดนี้ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมไปสักการะศพหลวงพ่อบุญเหลือ ซึ่งมรณภาพไปตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เก็บไว้ในหีบแก้วแต่ไม่เน่าเปื่อยเพียงแต่แห้งไป

บ้านท่ากระยาง (หล่อรูปโลหะและดินสอพอง)
อยู่ในเขตอำเภอเมืองลพบุรี หลังวัดตองปุ เดิมเป็นหมู่บ้านช่างหล่อ มีอาชีพหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ต่อมาเริ่มหล่อรูปโลหะอื่นๆ เป็นประเภท ของที่ระลึกและเลียนแบบของเก่าด้วย เช่น รูปสัตว์ประจำปีนักษัตริย์ รูปหนุมาน เทวรูปพระกาฬ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการทำดินสอพองเม็ดเล็กแบบเก่าอีกด้วย

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี
ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถาบันราชภัฏเทพสตรีลพบุรี มีหน้าที่ทะนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์วัฒนธรรมนี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2524 ภายในหอวัฒนธรรมได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับจังหวัดลพบุรีหลายด้าน เช่น แผนที่จังหวัด ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน แผนที่ทางภาษา นอกจากนั้นยังเก็บรวบรวมและจัดแสดงเอกสารโบราณที่พบในจังหวัดอีกด้วย



จังหวัดลพบุรี :: ข้อมูลทั่วไป
ลพบุรี เป็นเมืองสำคัญเก่าแก่เมืองหนึ่งตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เคยอยู่ใต้อำนาจมอญและขอม จนกระทั่งในตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนแถบนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง กล่าวคือ พระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้พระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จมาครองเมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 1893 พระราเมศวรโปรดให้สร้างป้อม ขุดคู และสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตใน พ.ศ. 1912 พระราเมศวรต้องถวายราชบัลลังก์ ให้แก่พระปิตุลาของพระองค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์พระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่วนพระราเมศวรครองเมืองลพบุรีสืบต่อไป จนถึง พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
หลัง จากนั้นมาเมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดา ที่ติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า กรุงศรีอยุธยานั้นไม่สู้ปลอดภัย จากการปิดล้อมระดมยิงของข้าศึก หากเกิดสงคราม จึงได้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สองขึ้น เพราะลพบุรีมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เหมาะสม ในการสร้างลพบุรีขึ้นใหม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับความช่วยเหลือ จากช่างชาวฝรั่งเศส และอิตาเลียน และได้สร้างพระราชวัง และป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ และโปรดให้ทูต และชาวต่างประเทศ เข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้หลายครั้ง
สิ้น รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรง ย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอายุธยา ในรัชกาลต่อๆ มา ก็ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้อีก จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2406 โปรดฯ ให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมกำแพง ป้อม และประตูพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังเป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ลพบุรีจึงแปรสภาพเป็นเมืองสำคัญอีกวาระหนึ่ง
ภาย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่ อันเป็นเมืองทหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนเมืองเก่านั้น อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่ง ในปัจจุบันนี้
อาณาเขตและการปกครอง

ลพบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 153 กม. มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,199.753 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดต่างๆ ดังนี้

ทิศเหนือ จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และนครสวรรค์
ทิศใต้ จดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
ทิศตะวันออก จดจังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ
ทิศตะวันตก จดจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และนครสวรรค์

จังหวัดลพบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ คือ อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านหมี่ อำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าวุ้ง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ กิ่งอำเภอลำสนธิ และกิ่งอำเภอหนองม่วง

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 036)

ททท.สำนักงานภาคกลาง เขต 7 จ.ลพบุรี

312-282 , 312-284

ศาลากลางจังหวัด

411-500

สถานีตำรวจภูธร

411-013

ตำรวจทางหลวง

411-622

สถานีรถไฟ

411-022

ไปรษณีย์จังหวัด

411-011

ชุมสายโทรศัพท์

411-114

สถานีดับเพลิง

411-111

รพ.ลพบุรี

411-267

รพ.บ้านหมี่

471-270

รพ.โคกสำโรง

441-300

รพ.ชัยบาดาล

461-414

รพ.พัฒนานิคม

412-990

รพ.ท่าวุ้ง

413-050

สาธารณสุขจังหวัด

411-386

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น